อีบังวอน พระเจ้าแทจงแห่งโชซอน

เกร็ดความรู้จากซีรีส์เกาหลี เรื่องราวของ "อีบังวอน" (Yi Bang-won: 이방원) บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์เกาหลีผู้ที่ได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นพระราชาลำดับที่สามแห่งราชวงศ์โชซอน พระนามว่า "พระเจ้าแทจงแห่งโชซอน" (Taejong of Joseon: 태종)


อีบังวอน (Yi Bang-won: 이방원) / พระเจ้าแทจงแห่งโชซอน (Taejong of Joseon: 태종)

องค์ชายอีบังวอนพระราชสมภพเมื่อ 13 มิถุนายน 1367 เขาเป็นบุตรชายคนที่ห้าของ "นายพลอีซองกเย" ที่เกิดกับสตรีจากตระกูลฮันผู้ที่ในภายหลังได้รับสถาปนาพระราชอิสริยยศ "ราชินีชินอึย" (Queen Sinui: 신의왕후) (พระนางชินอึยเสียชีวิตก่อนปราบดาภิเษก)

ช่วงปลายราชวงศ์โครยอ อีบังวอนสร้างผลงานโดดเด่นจนเป็นกำลังหลักในการปราบกลุ่มผู้ภักดีต่อราชวงศ์และช่วยให้บิดาปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์โชซอนพระนามว่า "พระเจ้าแทโจ" (Taejo of Joseon: 태조)

อีบังวอนได้รับพระยศ "‘เจ้าชายจองอัน" (Prince Jeong Ahn: 정안대군) แต่แทนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาท พระเจ้าแทโจกลับมองว่าเขาจะเป็นภัยจึงเลือกโอรสองค์เล็กที่เกิดจาก "พระมเหสีชินด็อก" (มเหสีองค์ที่สอง) นามว่า "อีบังซอก" ให้ครองตำแหน่งรัชทายาท

ความเจ็บช้ำน้ำใจที่ไม่ได้รับตำแหน่งรัชทายาทกลายเป็นชนวนเหตุนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดของพี่น้องร่วมสายโลหิตสองครั้งที่เรียกว่า "เหตุการณ์จลาจลขององค์ชาย"

"เหตุการณ์จลาจลขององค์ชายครั้งที่หนึ่ง" พระนางชินด็อกเสียชีวิตอย่างกะทันหันและมีข่าวลือว่าพระเจ้าแทโจจะยกย่องโอรสที่เกิดกับพระนางชินด็อกให้มีสถานะเหนือกว่าโอรสที่เกิดจากพระนางซึนอึย อีบังวอนจึงสังหาร "อีบังบอน" กับ "อีบังซอก" (โอรสทั้งสองของพระนางชินด็อก)

เมื่อตำแหน่งรัชทายาทว่างลง อีบังวอนจึงใช้อำนาจล้นฟ้าสถาปนาพี่ชายร่วมมารดาคนรองนามว่า "อีบังกวา" (Yi Bang-gwa: 이방과) ให้ครองตำแหน่งรัชทายาทแทน

ความเศร้าเสียใจที่เห็นลูกๆเข่นฆ่ากันเองทำให้พระเจ้าแทโจสละบังลังก์แล้วดำรงพระยศ "แทซังวัง" (กษัตริย์ที่สละหรือถูกปลดจากบัลลังก์) อีบังกวาจึงขึ้นครองบัลลังก์เป็นพระราชาลำดับที่สองแห่งราชวงศ์โชซอนพระนามว่า "พระเจ้าจองจง" (Jeongjong of Joseon: 정종) โดยอีบังวอนดำรงตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี

"เหตุการณ์จลาจลขององค์ชายครั้งที่สอง" พี่ชายร่วมมารดาคนที่สี่ของอีบังวอนนามว่า "อีบังกัน" (Yi Bang-Gan: 이방간) ก่อการกบฏแต่ถูกอีบังวอนปราบปรามและกักตัวไว้ หลังเหตุการณ์จบลงอีบังวอนกดดันให้พระเจ้าจองจงแต่งตั้งตนเองเป็นรัชทายาท

แม้จะครองตำแหน่งพระราชา แต่พระเจ้าจองจงไม่อาจอดทนที่อีบังวอนมีอำนาจเหนือกว่าจึงตัดสินใจสละบัลลังก์ให้อีบังวอนขึ้นครองราชย์เป็นพระราชาลำดับที่สามแห่งราชวงศ์โชซอนพระนามว่า "พระเจ้าแทจง"

พระเจ้าแทจงยังคงฝังใจและต้องการพิสูจน์ให้บิดาเห็นว่าตนเองเหมาะสมกับตำแหน่งพระราชา พระองค์วางรากฐานปกครองอาณาจักรโดยมีต้นแบบการบริหารจากราชวงศ์หมิงทำให้อาณาจักรโชซอนได้รับการยอมรับให้เป็นประเทศราชอย่างเป็นทางการ

ในปี 1418 พระเจ้าแทจงสละบัลลังก์ให้โอรสองค์ที่สามขึ้นครองเป็นพระราชาลำดับที่สี่พระนามว่า "พระเจ้าเซจงมหาราช" (Sejong the Great: 세종대왕) ส่วนพระเจ้าแทจงสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 1422

เรื่องราวของอีบังวอนมีหลายอย่างที่คล้าย "หลี่ซื่อหมิน" (จักรพรรดิถังไท่จง) แม้จะเป็นลูกที่มีความสามารถมากที่สุดแต่กลับไม่ถูกบิดาเลือก สุดท้ายจึงเกิดการนองเลือดระหว่างพี่น้องจนได้ขึ้นครองบัลลังก์และมีส่วนสำคัญในการสร้างยุคทองของราชวงศ์ปกครองแผ่นดิน